แหล่งเรียนรู้

แหล่งเรียนรู้อำเภอหนองหญ้าไซ

1.ห้องสมุดประชาชนอำเภอหนองหญ้าไซ



          ห้องสมุดประชาชนอำเภอหนองหญ้าไซ ตั้งขึ้น ณ ปี 2531 อยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลหนองหญ้าไซ อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี บนเนื้อที่ 2 งาน ในเขตที่ว่าการอำเภอหนองหญ้าไซ ก่อสร้างขึ้นด้วยเงินงบประมาณของกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปีงบประมาณ 2530 จำนวนเงิน 550,000 บาท และเปิดให้บริการแก่ประชาชน และนักศึกษา เมื่อ วันที่ 16 มิถุนายน 2532


2.แหล่งการเรียนรู้ โบราณคดีหนองราชวัตร






ความเป็นมาของโครงการขุดค้น
          เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๖ สำนักงานศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ได้รับแจ้งจากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี ว่ามีการพบหลักฐานโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากจากการขุดปรับหน้าดินในบริเวณใกล้ๆ กับที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลหนองราชวัตร สำนักงานศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี โดย นายเขมชาติ เทพไชย ผู้อำนวยการสำนักงานฯและนายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี      นักโบราณคดี ๗ว. หัวหน้ากลุ่มวิชาการโบราณคดี ได้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่แหล่งโบราณคดีในเบื้องต้น ผลจากการสำรวจพื้นที่แหล่งซึ่งถูกขุดตักดินเพื่อปรับพื้นที่เนินดินให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกอ้อยได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ ขวานหินขัดชิ้นส่วนกำไลหิน กระดูกสัตว์ และเศษภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก โดยมีโบราณวัตถุชิ้นเด่น คือ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่เรียกว่า “หม้อสามขา” ซึ่งเคยได้พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี 

3.แหล่งเรียนรู้วัดหนองหลวง


ประวัติความเป็นมา
          ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลหนองหญ้าไซ อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี มีเนื้อที่ 25 ไร่ 3 งาน อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรีเดิมวัดหนองหลวงชื่อ วัดสระปทุม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า วัดหนองหลวง ตามทำเนียบของกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการ วัดหนองหลวงตั้งขึ้น พ.ศ. 2305 เป็นวัดที่มีอดีตยาวนานวัดหนึ่ง วัดนี้ตั้งมาก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาถึง 5 ปี และถ้าเปรียบกับการตั้งกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯแล้ว วัดหนองหลวงยังตั้งมาก่อนถึง 20 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ.2305 จนถึงปัจจุบัน วัดหนองหลวงจะมีอายุยาวนานถึง 236 ปี ด้วยกาลเวลาอันยาวนานเช่นนี้สิ่งก่อสร้างวัดหนองหลวงย่อมสึกกร่อนเสียหายใช้การไม่ได้ จึงมีการปรับปรุงพัฒนาด้วยความตั้งใจอันแรงกล้าของพระครูศรีกัลยาณคุณ เจ้าอาวาสวัดหนองหลวงองค์ปัจจุบัน กอปรกับความสามัคคีของประชาชนผู้ศรัทธาได้รวมพลังกันก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ อาทิ กุฏิศาลาการเปรียญ ศาลาอเนกประสงค์ แท็งก์น้ำ กำแพงรอบบริเวณรอบวัด โบสถ์ เมรุ สระน้ำ และได้ปลูกดอกไม้ยืนต้น ไม้ประดับ ไม้ดอก ปรับพื้นบริเวณวัดเพื่อสร้างสถานภาพสิ่งแวดล้อมให้ร่มรื่น จนได้รับเกียรติจากกรมศาสนาประกาศให้วัดหนองหลวงเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างเมื่อปี 2525

4.แหล่งเรียนรู้ศูนย์ส่งเสริมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ประวัติความเป็นมา 
          เกิดจากความต้องการให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจด้านเกษตรกรรมและคืนความสมดุลให้กับธรรมชาติ  นายเฉลียว  ปานเนียม  ได้ไปดูงานในสถานที่ต่าง ๆ จึงเกิดความคิดที่จัดตั้งศูนย์ฯ นี้ขึ้น  เพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดินและแสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการดำเนินตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียง  และส่งเสริมผู้สนับสนุน ผู้ที่สนใจเข้าร่วมอบรมการทำเกษตรธรรมชาติโดยไม่รบกวนค่าใช้จ่าย จากการปฏิบัติที่ผ่านมาปรากฏว่ามีผู้ที่มาเยี่ยมงานได้เข้ามาดูงานกันมากและได้ช่วยเหลือผู้ต้องการได้รับความรู้เรื่องการทำเกษตรธรรมชาติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม

5.แหล่งเรียนรู้  ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงบ้านหนองเต่าทอง

ประวัติความเป็นมา 
          ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านหนองเต่าทองเกิดจากความต้องการให้ความรู้แก่เกษตรกรของนายสุกรรณ์  สังข์วรรณ  เนื่องจากการที่นายสุกรรณ  สังข์วรรณได้เป็นวิทยากรด้านการพัฒนาที่ดิน  และการเกษตรทุกสาขาจึงจัดองค์ประกอบในการจัดอาชีพให้มีความเชื่อมโยง  เกื้อกูลกันของกิจกรรมในแปลงเพื่อมุ่งสู่การทำการเกษตรอย่างยั่งยืนภายใต้ระบบเศรษฐกิจ  พอเพียงและมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่เป็นหลัก

6.ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ณ  บ้านหนองกระโดนมน







          ความเป็นมา  ของศูนย์การเรียนรู้  จากการประชุมวางแผน  โดยวิธีประชาคมหมู่บ้าน  ประชาชนในหมู่บ้านหนองกระโดนมน  มีความคิดที่จะรวบรวมความรู้ภูมิปัญญาต่างๆ  ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน  ส่วนใหญ่ประชาชนให้ความสนใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตชุมชนแบบเศรษฐกิจพอเพียงมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน  ให้อยู่เย็นเป็นสุข
          หน่วยงานราชการต่างๆ  ให้ความสนใจและนำผู้นำชุมชนเข้าร่วมประชุม  อบรมศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพี่ยงการอบรมการแปรรูปปลาส้มจืด  การเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์การทำปุ๋ยชีวภาพ  การเลี้ยงสุกร  ประกอบกับผู้นำหมู่บ้านและประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี  ปัจจุบันบ้านหนองกระโดนมน  จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงทั้งชุมชน  โดยมีกำนันแมน  ภูผา และคณะทีมงาน ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี